เราจะต้องพิจารณาว่า จุดประสงค์การทำเป็นอย่างไร ถ้าจะสร้างโมเดลนิ่งๆ ก็ให้เน้นที่การขึ้นรูปทรงแล้วกำหนดพื้นผิวและประมวลผลได้เลย แต่ถ้าต้องการสร้างงานที่เคลื่อนไหวได้ (3d Animation) ก็จะมีขั้นตอนที่มากกว่านั้น โดยบทความนี้จะยกตัวอย่างคร่าวๆมาให้ดูกัน
1. สเก็ตซ์ภาพและเขียน Storyboard
คือการกำหนดและวาดตัวละคร ฉาก เรื่องราว ถ้าเป็นงานอะนิเมชั่นแบบ 3D ต้องสร้างเรื่องราวทั้งหมดด้วยการเขียน Storyboard โดยจะระบุรูปร่าง ลักษณะของตัวละคร แล้วเรียงลำดับเรื่องราวให้สอดคล้องกัน
2. สร้างโมเดล (Modeling)
เป็นการขึ้นโมเดลด้วยโปรแกรมสร้างงาน 3D เช่น 3ds Max,Maya,ightwave ให้เกิดโครงสร้างแล้วลงรายละเอียดพร้อมตกแต่งโมเดล
3. ใส่พื้นผิวและลวดลาย
เป็นการใส่พื้นผิวให้กับตัวละคร หรือวัตถุที่เพิ่งสร้างตามที่เราออกแบบไว้ เช่น ต้องการสร้างแก้วน้ำ พื้นผิวก็ควรจะมีความใสและมันวาว ถ้าสร้างคน พื้นผิวก็จะเป็นผิวหนังและลวดลายของเสื้อผ้า
4. สร้างการเคลื่อนไหว
เป็นการกำหนดการเคลื่อนไหวของโมเดล สามารถทำได้หลายแบบทั้งการใส่โครงร่าง (Bones) การกำหนดเส้นทางการเคลื่อนที่ รวมทั้งการตั้งคีย์เฟรมให้โมเดลเคลื่อนไหวไปตามคีย์เฟรมนั้น เป็นต้น
5. สร้างฉาก แสงเงา มุมกล้อง (Light & Cameras)
หลังจากที่มีโมเดลเป็นตัวละครหลักแล้ว ต่อมาคือการสร้างฉากและสภาพแวดล้อม จากนั้นก็ทำการจัดไฟและมุมกล้องให้เข้ากับฉากที่สร้างขึ้นด้วย เพื่อให้ฉากมีความสมจริงตามเรื่องราวที่เราได้วางไว้
6. ใส่เอ็ฟเฟ็กต์และตกแต่งชิ้นงาน (Effects)
ในโปรแกรมสร้างงาน 3d สามารถทำเอ็ฟเฟ็กต์ได้มากมาย เช่น ไฟ ลม น้ำ สายฟ้า แสงเลเซอร์ ซึ่งช่วยให้งานของเรามีความน่าสนใจมากขึ้น
7. ประมวลผลงานและนำไปตัดต่อ (Rendering & Compositing)
ขั้นตอนสุดท้ายนั้นคือ การประมวลผลชิ้นงานหรือการเรนเดอร์ เป็นการทำงานให้ได้ไฟล์ภาพเคลื่อนไหว แล้วนำไปตัดต่อเพิ่มเติมในโปรแกรมตัดต่อให้เกิดความต่อเนื่องและราบรื่นของเนื้อเรื่องเพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์แบบมากที่สุด
ในโปรแกรมสร้างงาน 3D จะทำงานกับแกน 3 มิติ คือมีแกน x,y และ z ดังนั้นผู้ที่เริ่มต้นเล่นโปรแกรมลักษณะนี้เป็นครั้งแรก ควรจะทำความคุ้นเคยกับหน้าจอของโปรแกรม และดูให้ออกว่าขณะณี้กำลังทำงานกับแกนใด